เนื้อหาล่าสุด
4th Jun

2014

ตั้งเป้าไทยทวงแชมป์ส่งออกข้าวปี57 นักวิจัยชี้รับจำนำข้าวทำขาดดุลการค้า

โดยเคหการเกษตร  12 เมษายน 2557 เขียนโดย ปกป้อง ป้อมฤทธิ์

สถาบันคลังสมองฯ ชี้ปี 2557 ไทยจะทวงแชมป์ส่งออกข้าวคืนจากอินเดียได้หากรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด แต่กลับมาใช้นโยบายพัฒนาและส่งเสริมกลไกตลาดข้าวให้มีประสิทธิภาพ ด้านผลวิจัยโครงการช่วยเหลือชาวนาของภาครัฐของ สกว. ระบุโครงการรับจำนำข้าวทำไทยขาดดุลการค้ามากกว่ารับประกันรายได้ขั้นต่ำ 5 เท่า และก่อให้เกิดการสูญเสียสวัสดิการทางสังคมมากกว่า

IMG_3606_resize IMG_7426_resize
รศ.สมพร อิศวิลานนท์                                                    นายอุชุก ด้วงบุตรศรี

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ เปิดเผยถึงการนำเสนอผลการศึกษาจากโครงการวิจัย “บทวิเคราะห์โครงการช่วยเหลือชาวนาของภาครัฐในด้านการขายผลผลิตเมื่อสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว” โดยนายอุชุก ด้วงบุตรศรี จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายใต้การสนับสนุนของสถาบันคลังสมองของชาติและฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องในการวางแผนจัดทำโครงการได้รับทราบและนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจข้าวไทยและชาวนาไทยต่อไป

ผลการศึกษาระบุว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกและโครงการประกันรายได้ขั้นต่ำต่างก็มีจุดประสงค์เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรที่ทำนา ซึ่งสร้างแรงจูงใจให้เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นถึง 15 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเกือบ 10 ล้านไร่ และกว่า 3 ล้านไร่อยู่ในภาคกลางซึ่งมีระบบชลประทาน ขณะที่ชาวนายากจนส่วนมากอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ชบประทานไม่ถึงร้อยละ 10 ทำให้เกิดเป็นข้อโต้แย้งว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปัจจุบันนั้น ชาวนายากจนไม่สามารถเข้าถึงผลประโยชน์ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทั้งนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากว่าโครงการใดที่เหมาะกับสภาวะตลาดข้าวในปัจจุบันมากกว่ากัน แต่ละโครงการเอื้อประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานข้าวแตกต่างกัน แม้แต่ความเห็นและความพึงพอใจที่ต่างกันในกลุ่มเกษตรกรเอง จากความแตกต่างของลักษณะครัวเรือน สังคม ทัศนคติต่อความเสี่ยง และข้อจำกัดด้านการเงิน

รายงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าชาวนายังคงพอใจในโครงการรับจำนำข้าวไม่แตกต่างจากกรณีไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งสอดคล้องกันสภาวะตลาดข้าวและศักยภาพการผลิตของชาวนา อีกทั้งยังสร้างผลพลอยได้ให้กับเกษตรกรผู้ไม่เข้าร่วมโครงการ โดยประโยชน์ที่ได้รับมาจากราคาข้าวในตลาดเพิ่มสูงขึ้น แต่เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนที่สูงขึ้นของรายได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามทั้งโครงการรับจำนำข้าวและโครงการประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ล้วนก่อให้เกิดการสูญเสียสวัสดิการทางสังคมโดยรัฐจะมีภาระทางด้านงบประมาณตามมา โดยโครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดส่วนเกินทางเศรษฐกิจ 1,572 ล้านบาท สวัสดิการทางสังคมที่สูญเสียไปภายใต้โครงการรับจำนำถึงร้อยละ 12 (5.38 พันล้านบาท) ขณะที่โครงการประกันรายได้ขั้นต่ำทำให้เกิดส่วนเกินทางเศรษฐกิจ 41,102 ล้านบาท (ร้อยละ 99 ของเงินงบประมาณ) และมีการสูญเสียสวัสดิการทางสังคมเพียงร้อยละ 1 (0.21 พันล้านบาท) ทั้งนี้โครงการรับจำนำข้าวทำให้ขาดดุลการค้ามากกว่าเกือบ 5 เท่าจากการปรับตัวลดลงของราคาข้าวทั้งในและต่างประเทศ

“หากรัฐบาลจำเป็นต้องนำโครงการใดมาใช้ด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือทางสังคม ก็ควรจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับประโยชน์ให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเกษตรกรขนาดเล็กที่ยากจน เพราะทั้งสองโครงการต่างก็สร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรบางกลุ่มซึ่งส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรการผลิตที่ไม่เหมาะสมตามมา นอกจากนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับประเด็นขีดความสามารถในการเข้าถึงประโยชน์ของเกษตรกรในสภาพแวดล้อมการผลิตที่ต่างกัน อาทิ เกษตรกรภาคอีสานที่ทำนาในพื้นที่นาน้ำฝนส่วนมากเพาะปลูกในพื้นที่ขนาดเล็กปีละครั้ง ผลผลิตส่วนใหญ่นำมาบริโภคในครัวเรือนจึงมีผลผลิตไม่มากพอที่จะคุ้มกับค่าขนส่งหรือเมื่อนำไปขาย ณ จุดรับจำที่รัฐบาลกำหนดไว้ ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานที่มีความเสี่ยงต่ำ เพาะปลูกได้ปีละหลายครั้งมีผลผลิตต่อไร่สูง ควรจะจำกัดการได้รับสิทธิในการรับประโยชน์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม”

ส่วนกรณีโครงการรับประกันรายได้ขั้นต่ำนั้น รัฐบาลควรกำหนดพื้นที่การใช้สิทธิรับเงินชดเชยให้สอดคล้องกับลักษณะครัวเรือนกลุ่มเป้าหมาย เช่น ชาวนาที่มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็กเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของรายได้มาก พื้นที่การใช้สิทธิควรจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดของชาวนาในกลุ่มนี้ รวมถึงการคำนวณจำนวนเงินชดเชยให้มีความแม่นยำมากขึ้นเพื่อไม่ให้ต่ำกว่าที่ควรได้ นอกจากนี้ภาครัฐควรคำนึงถึงการสร้างกลไกให้เกิดการปรับตัวไปสู่การผลิตพืชที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูง ขณะเดียวกันก็ควรปรับศักยภาพการผลิตโดยเฉพาะผลิตภาพการผลิตต่อหน่วยของแรงงานให้สูงขึ้น มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการตลาด เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับภาคการเกษตรไทยในระยะยาว

นอกจากนี้ รศ.สมพร ยังกล่าวว่า การเร่งระบายข้าวในสต็อกของรัฐในระดับราคาที่ต่ำภายใต้สถานการณ์ที่ขาดแคลนเงินที่จะจ่ายเป็นค่ารับจำนำข้าวให้กับชาวนา และกดดันให้ระดับราคาข้าวเปลือกในระดับไร่นาพลอยลดต่ำลงตามไปด้วย กอรปกับการหยุดดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวในฤดูปรังปี 2557 จะส่งผลดีต่อตลาดข้าวเปลือกเอกชน ข้าวที่ชาวนาผลิตได้จะไหลออกสู่ตลาดข้าวเอกชนเพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถพลิกฟื้นได้ในระดับหนึ่ง และคาดเดาว่าตลาดข้าวสารในประเทศไทยและตลาดส่งออกข้าวของไทยจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง หากมองสถานการณ์ของระดับราคาข้าวไทยในตลาดโลกที่มีช่วงส่วนต่างของราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่งขันที่แคบลง คาดว่าหากราคาข้าว 5% และ 25% ส่งออกข้าวไทยลดต่ำลงมาสุ่ระดับราคาที่ใกล้เคียงกับคู่แข่งแล้ว ปริมาณการส่งออกของไทยอย่างน้อยก็จะปรับตัวสูงกว่าระดับการส่งออกของเวียดนาม ทำให้การทวงแชมป์ส่งออกข้าวของไทยคืนจากเวียดนามน่าจะเป็นจริงได้อย่างแน่นอน แต่การทวงแชมป์อันดับหนึ่งคืนจากอินเดียวจะเป็นจริงได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับระดับราคาข้าวส่งออกของไทยจะลดลงต่ำหรือเทียบเท่ากับอินเดียหรือไม่

“อาจเป็นไปได้ที่ไทยจะทวงแชมป์การส่งออกข้าวคืนจากอินเดีย หากรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดเหมือนเช่นในอดีต แต่กลับมาใช้นโยบายพัฒนาและส่งเสริมกลไกตลาดข้าวให้มีประสิทธิภาพ จัดทำนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรในมิติของการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความสามารถในการจัดการไร่นา และการหาทางให้ชาวนาที่มีความสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวไปสู่ตลาดข้าวคุณภาพ เพื่อรองรับกับตลาดจำเพาะหรือนิชมาร์เก็ตที่กำลังขยายตัว”

Share This :